top of page

อันตรายของฝุ่น PM (Particle Matter)


ฝุ่น คือ อนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศได้ สาเหตุการเกิดฝุ่นมาจากหลายปัจจัย เช่น โรงงาน ควันท่อไอเสียรถยนต์ การเผา การปะทุของภูเขาไฟ เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาที่ฝุ่นจะลอยอยู่ในอากาศได้ก่อนตกลงสู่พื้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักขนาดอนุภาคของฝุ่น ปกติฝุ่นจะลอยขึ้นไปในอากาศ และถูกสายลมพัดพาฟุ้งกระจายไป แต่หากช่วงไหรอากาศนิ่งไม่ค่อยมีลมพัด อย่างเช่น ฤดูหนาวในไทย ฝุ่นละอองจะไม่ฟุ้งกระจาย ส่งผลให้ระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆ สะสมมากขึ้นจนกลายเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ


ชนิดของฝุ่น

ฝุ่นมีหลากหลายขนาดตั้งแต่ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ จนถึงฝุ่นละเอียดขนาดเล็กมาก ซึ่งฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นด้วยแรงดึงดูดของโลกเร็ว ส่วนฝุ่นขนาดละเอียดจะสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานปะปนในอากาศ ทำให้เราสูดหายใจเข้าไปได้ง่าย

  1. ฝุ่นรวม TSP (Total Suspended Particulate) เป็นฝุ่นขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา เกิดมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลง เช่น ถ่านหิน ฟืน แกลบ เป็นต้น

  2. PM10 ฝุ่นหยาบ (Coarse Particle) เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-2.5 ไมครอน เกิดมาจากการจราจรบนถนน จากการขนส่งวัสดุ และฝุ่นจากกิจกรรมบด ย่อย หิน เป็นต้น

  3. PM2.5 ฝุ่นละเอียด (Fine Particle) เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง เล็กกว่า 2.5-0.1 ไมครอน มีแหล่งกำเนิดมาจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากหุงต้มอาหารโดยใช้ฟืน รวมไปถึงก๊าซ SO2 NOx และสาร VOC (สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย) ทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศ ก่อให้เกิดเป็นฝุ่นละเอียด PM2.5 ได้

  4. PM0.1 ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมครอน (Ultrafine Particle) สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลข้ามพรมแดนได้ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นส่วนผสมที่มีคุณสมบัติทั้งทางด้านฟิสิกซ์ และทางเคมีขึ้นกับสถานที่ องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นชนิดนี้ ประกอบด้วย ซัลเฟต ไนเตรท แอมโมเนีย หรือเป็นไอออนของสารอนินทรีย์ เช่น ไอออนของโซเดียม โปตัสเซี่ยม แคลเซียม แมกนีเซียม และคลอไรด์ หรือเป็นสารคาร์บอน ทั้งคาร์บอนอินทรีย์ หรือธาตุคาร์บอน หรือเป็นอนุภาคที่รวมตัวกับน้ำ หรือเป็นโลหะ (ได้แก่ แคดเมียม ทองแดง นิเกิล วานาเดียม และสังกะสี ) หรือเป็นสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH) นอกจากนี้สารทางชีววิทยา ได้แก่ สารภูมิแพ้ หรือเชื้อโรคต่างๆ ก็สามารถที่จะพบได้ใน PM อีกด้วย

และเมื่อเรามาเทียบอนุภาคอื่นๆแต่ละชนิด ตั้งแต่เม็ดทราย เส้นผม และฝุ่น จะเห็นขนาดของฝุ่นว่าเล็กมาก จนเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มากไปกว่านั้นการกรองของขนจมูกเราจะไม่สามารถกรองได้ฝุ่นพวกนี้อย่างแน่นอน

อันตรายจากฝุ่น PM

ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นชนิดไหน ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้รับสัมผัส เพราะอันตรายจากองค์ประกอบในฝุ่นละออง เช่น ฝุ่นละอองที่มีคุณสมบัติเป็นกรด อาจก่อการระคายเคืองและการอักเสบของทางเดินหายใจ ข้อมูลจากนักวิชาการ รศ.ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลตอกย้ำว่า "ฝุ่น PM 10 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม สามารถเข้าไปถึงคอสู่หลอดลม ส่วน PM 2.5 สามารถเข้าสู่ถุงลมปอด หากขนาดเล็กลงอีกอย่างฝุ่น PM 0.1 จะทะลุลวงเข้าไปในหลอดเลือด จากนั้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายจะพาไปตับ ไต หัวใจ และสมอง ในรายงานการศึกษาที่สหรัฐยืนยันแล้ว ผู้ที่สัมผัสพื้นที่รับฝุ่นมาก หรือสูดดมฝุ่นพิษ ป่วยด้วยโรคมะเร็ง 70% หันหลับมาที่ไทย คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รายงานคนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งอันดับ 1 ทุกชั่วโมงมีคนตาย 8 คน ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งถุงน้ำดี ฯลฯ แม้จะมีการรณรงค์ให้คนไทยกินหวาน มัน เค็ม น้อยลง ให้เลิกเหล้า บุหรี่ แต่ยังมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากมาย ต้องไม่ลืมว่ามีปัจจัยมลพิษทางอากาศด้วย ฝุ่นจิ๋วยังทำให้คนเป็นโรคหลงลืมก่อนวัยอันควรด้วย ยังไม่พูดถึงโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคอัลไซเมอร์"


ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองหรือหมอกควัน ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในที่มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจายควรใช้หน้า กากอนามัยปิดปากและจมูก และหากในตัวอาคารควรติดตั้ง เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองได้สูง (ลองศึกษาวิธีเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีคุณภาพ ว่าควรเลือกจากอะไรบ้าง ที่นี่) และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อมใช้ในกรณีที่มีอาการกำเริบ และหากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์

ดู 130 ครั้ง

Comments


bottom of page